วันพฤหัสบดีที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2551

โกนารัก เทวสถานพระสุริยะเทพ



พระสุริยะเทพนั้นเป็นเทพเจ้าที่มีความสำคัญในอารยธรรมโบราณของโลกหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็นกรีกที่รู้จักกันในนามของเทพอพอลโล หรืออียิปต์ที่ขนามว่า รา จึงถือได้ว่าพระสุริยะเทพได้รับการเคารพนับถือกันอย่างกว้างขวาง สำหรับในประเทศอินเดียเองนั้น พระสุริยะเทพปรากฎเป็นพระนามมาตั้งแต่สมัยพระเวทซึ่งเป็นยุคสมัยแรกของพัฒนาการทางศาสนาพราหมณ์ในประเทศอินเดีย และในยุคต่อมาคือยุคปุราณะฐานะของพระสุริยะเทพก็ค่อยๆลดบทบาทลงมา จากในสมัยพระเวทที่เคยเป็นเทพเจ้าที่มีความสำคัญในอันดับต้นๆ ก็ถูกลดฐานะลงมาเป็นเทพนพเคราะห์แทนในยุคปุราณะ แต่พระองค์ก็ยังมีผู้นับถือเป็นนิกายอิสระชื่อนิกายเสาระ ซึ่งเป็นหนึ่งใน 5 นิกายของศาสนาพราหมณ์ที่กลายมาเป็นศาสนาฮินดู ซึ่งประวัติความเป็นมาของพระสุริยะเทพและรายละเอียดนั้นจะขอกล่าวถึงในตอนต่อไป

การค้นพบเทวสถานโกนารักในระยะแรกเริ่ม

เทวสถานแห่งนี้ตั้งอยู่ใกล้แนวชายฝั่งทะเลของรัฐโอริสสาทางภาคตะวันออกของประเทศอินเดีย หลังคาทรงพีรามิดนั้นโดดเด่นตัดกับเส้นขอบฟ้าและแนวของต้นมะพร้าวอย่างงดงาม ซากปรักหักพังของเทวสถานแห่งนี้บ่งบอกถึงความเจริญรุ่งเรืองและความลึกลับในอดีตได้เป็นอย่างดี มีเอกสารโบราณเล่มหนึ่งที่ชื่อว่า มัทละ ปันชิ ซึ่งเป็นบันทึกเหตุการณ์ของวิหาร จักรนารท ที่เมืองภูริ เอกสารโบราณชุดนี้มีหลายเล่มแยกเก็บเป็นมัดเรียกว่า นัทธิ เอกสารหมายเลข ๓๔ ได้บอกเล่าเรื่องราวในระยะแรกๆของการค้นพบเทวสถานที่โกนารักว่าเทวสถานแห่งนี้ถูกสร้างขึ้นในสมัยกษัตริย์นรสิงห์ที่ ๑ แห่งราชวงศ์คงคา ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๔ ราชวงศ์นี้มีอิทธิพลอยู่ในช่วง ประมาณ พ.ศ.๑๒๙๓ - พ.ศ.๑๗๙๓ ผู้ค้นพบเทวสถานแห่งนี้เป็นคนแรกคือราชครูแห่งโษภทตะสเฐ ซึ่งเป็นผู้ถือราชสิทธิ์จากราชวงศ์ มหาราษฎร์ แห่งแคว้นโอริสสา ราชครูผู้นี้มีนามว่า ปาปะ พรามครี เขาได้บันทึกเรื่องราวการเดินทางไปยังเทวสถานแห่งพระอาทิตย์ที่พังทลายอยู่กลางป่าไว้ว่า ตัวเราเองมีนามว่า ปาปะ พรามครี ได้รับทราบเรื่องราวที่น่าเชื่อถือได้เกี่ยวกับวิหารแห่งสุริยะเทพที่พังทลายอยู่กลางป่า ด้วยความที่ตัวเราเองศรัทธาในองค์พระสุริยะเทพ เราจึงปรารถนาที่จะได้เห็นวิหารแห่งนี้ ค่าใช้จ่ายในการเดินทางครั้งนี้ ชิมันจิได้มอบเหรียญทอง 200 เหรียญให้กับเรา พร้อมกับคณะผู้ร่วมเดินทางซึ่งประกอบด้วย โกธะ-กรนะ นิลังภร และ ปัตตนายกะ พวกเราออกเดินทางโดยช้างสองเชือก เราท่องเที่ยวไปตามแนวชายฝั่งทะเล ข้ามแม่น้ำสองสาย เราไม่พบที่อยู่อาศัยใดๆเลย นั่นทำให้เราเริ่มคิดว่า วิหารจะมาสร้างในสถานที่ๆไม่มีมนุษย์อาศัยอยู่ได้อย่างไร ในทันใดนั้นเองก็ปรากฏเนินเขาหินขึ้นห่างจากพวกเราไปสองไมล์และนั่นก็คือวิหารแห่งสุริยะเทพนั่นเอง จากการที่เราได้อ่านเรื่องราวเกี่ยวกับความเชื่อและความสำคัญของวิหารหลังนี้ ทำให้เรามีความกระตือรือร้นที่จะไปพบวิหารแห่งนี้อย่างมาก
นั่นคือการค้นพบในระยะแรกเริ่มของเทวสถานโกนารักที่ถูกทำลายและปกคลุมโดยผืนป่าไว้ทั้งหมด และการสำรวจในระยะต่อๆมาก็จะเป็นพวกชาวอังกฤษที่เข้ามาเมื่ออินเดียตกอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ เมื่อนักสำรวจที่ชื่อ เฟอร์กัสสัน เดินทางมาที่โกนารักในปี พ.ศ.2380 ส่วนที่เป็นศิขระที่อยู่ถัดไปจากตัววิหารยังคงมีสภาพสมบูรณ์ แต่หลังจากนั้นประมาณ ๑ ทศวรรษต่อมาก็พังทลายลง ในปี พ.ศ.2425 เริ่มมีการถากถางพื้นป่าที่ขึ้นปกคลุมโบราณสถานแห่งนี้ ปี พ.ศ.2437 ประติมากรรมบางส่วนได้ถูกขนย้ายไปไว้ที่พิพิธภัณฑ์ที่เมืองกัลกัตตา ต่อมาในปี พ.ศ.2444 นักโบราณคดีจากเบงกอลได้มาทำการสำรวจขุดค้นเทวสถานแห่งนี้เพื่อทำการบูรณะ และเสร็จสิ้นในปี พ.ศ.2453 อุปสรรคที่สำคัญในการบูรณะเทวสถานแห่งนี้ก็คือเกลือจากทะเลและราที่เกาะติดอยู่ตามหินแต่ละก้อน ต้นไม้ที่ปกคลุมอย่างมากมายก็เป็นตัวการในการทำลายเทวสถานแห่งนี้เช่นกัน
จากการที่นักปราชญ์และนักโบราณคดีได้เข้ามาสำรวจและศึกษาวิหารโกนารักแห่งนี้พวกเขาได้ใช้เทคนิควิธีการในการอนุรักษ์โบราณสถานให้กลับคืนสู่สภาพที่สมบูรณ์ และทำให้ผู้คนโดยรอบโกนารักและแคว้น โอริสสาได้ทราบว่าเทวสถานแห่งนี้สร้างขึ้นเพื่ออุทิศถวายให้กับสุริยะเทพมาตั้งแต่ต้น ถึงแม้ว่าปัจจุบันเทวสถานแห่งนี้จะพังทลายลงไปบางส่วน แต่ก็ยังมีผู้คนเป็นพันๆมาเยี่ยมเยียนเทวสถานแห่งนี้ไม่ขาด และโดยเฉพาะช่วงที่เป็นเทศกาลวันกำเนิดแห่งสุริยะเทพ สำหรับการบูชาสุริยะเทพนั้นเริ่มแพร่ขยายอิทธิพลมาจากอิหร่านไปยังแถบตะวันตกและตะวันออกของอินเดียอย่างช้าๆ หลักฐานทางประวัติศาสตร์ในยุคแรกๆเกี่ยวกับการบูชาพระอาทิตย์ของโอริสสาคือจารึกบนแผ่นทองแดงที่ชื่อว่า สุมัณฑละ มีอายุประมาณ พ.ศ.1142 อยู่ในสมัยของกษัตริย์ที่ทรงพระนามว่ามหาราชาธรรมราชา จึงทำให้ความเชื่อที่ว่าการบูชาสุริยะเทพในรัฐโอริสสานั้นมีมาตั้งแต่สมัยโบราณสืบต่อมาจากยุคพระเวทอย่างแน่นอน

สถาปัตยกรรมของโกนารัก

ปัจจุบันเทวสถานโกนารักตั้งอยู่ห่างจากเมืองภูวเนศวรประมาณ 37 ไมล์ ริมชายฝั่งทะเลของเมืองโอริสสา ช่างฝีมือใช้จินตนาการ ความคิดและความเข้าใจจากตำนานและคัมภีร์ในการสร้างเทวสถานแห่งนี้จากแนวคิดที่ว่า ม้าทรงแห่งพระอาทิตย์ลากราชรถเดินทางสู่สรวงสวรรค์ด้วยการเคลื่อนไหวที่งดงามและมีชีวิตชีวาเทวสถานแห่งนี้สร้างตามความเชื่อในองค์สุริยะเทพที่แพร่หลายอยู่โดยรอบบริเวณแถบนี้ เทวสถานโกนารักถูกโอบล้อมด้วยกำแพงใหญ่ ๓ ด้าน ม้าเจ็ดตัวที่ลากราชรถจะอยู่คนละด้าน ๓ ตัวอยู่ด้านทิศเหนือ อีก ๔ ตัวอยู่ในด้านทิศใต้ ในปัจจุบันเทวสถานแห่งนี้อยู่ในสภาพที่พังทลายแต่ก็ยังมีส่วนที่ยังคงสมบูรณ์อยู่ เช่น วิหารทรงพีรามิดที่รอบฐานจะมีซี่กงล้อรถจำนวน ๑๒ ล้อ แทนความหมายถึงราศีทั้ง ๑๒ ราศี แต่ละกงล้อจะมีความสูง ๑๐ ฟุต ที่ฐานกงล้อจะแกะสลักเป็นรูปช้างรองรับอย่างสวยงาม ส่วนที่เป็นห้องใหญ่ในการทำพิธีที่เรียกว่าจักรโมหนะ ยังอยู่ในสภาพสมบูรณ์ ส่วนที่พังทลายลงไปคือวิหารที่มีหลังคาทรงศิขระ เทวสถานแห่งโกนารักนี้มีลักษณะทางสถาปัตยกรรมที่เป็นลักษณะที่เรียกว่าโอริเซียนสไตล์ ซึ่งเป็นลักษณะที่ปรากฏอยู่ในเทวสถานภายในแถบแคว้นโอริสสา เช่นที่ ภูวเนศวร หรือ ภูริ เป็นต้น
ส่วนที่เป็นวิหารนั้นฝาผนังแต่ละด้านและฐานวิหารได้รับการตกแต่งอย่างสวยงาม มีรูปแกะสลักเป็นลวดลายละเอียดเช่นรูป นางระบำหรือเทวทาสีซึ่งเป็นทาสรับใช้ของเทพเจ้าที่แสดงท่าทางของการร่ายรำในแบบฉบับของโอริสสา ส่วนอาคารอื่นๆที่อยู่ภายในบริเวณเดียวกับเทวสถานแห่งนี้ก็เช่น อาคารที่เรียกว่า นาถมณฑป ซึ่งจะตั้งอยู่ด้านหน้าเป็นส่วนทางเข้ามายังวิหารสุริยะเทพ ที่นี่จะมีรูปสลักเทวทาสีที่แสดงการร่ายรำหรือเล่นดนตรีสลักอยู่ที่ฝาผนัง
อาคารที่อยู่ทางด้านทิศใต้ที่เรียกว่า โพธิ์คมณฑป ซึ่งสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นส่วนที่ใช้สำหรับ ประกอบหรือจัดเตรียมอาหาร เพราะมีสิ่งก่อสร้างที่ใช้สำหรับกักเก็บน้ำและบ่อน้ำ ทางด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ของวิหารหลังใหญ่ พบลักษณะอาคารที่น่าจะสำคัญรองลงมาเป็นอันดับสองและอาจมีอายุเก่าแก่กว่าตัววิหาร ซึ่งต่อมาจากการศึกษาก็ทำให้ทราบว่าอาคารหลังนี้สร้างอุทิศให้กับพระนางมายาเทวี ชายาของสุริยะเทพ อาคารหลังนี้ตั้งอยู่ใกล้กับวิหารหลังเล็กที่สร้างอุทิศให้กับพระวิษณุ

ประติมากรรมที่โกนารัก
ธรรมเนียมในการสร้างเทวสถานสักการะพระสุริยะเทพในช่วงประมาณกลางศตวรรษที่ ๑๓ ได้ถูกอิทธิพลศาสนาฮินดูไม่ว่าจะเป็นลัทธิ ไศวนิกายหรือไวษณพนิกาย เข้ามาแทนที่ ในระยะต่อมาการสร้าง เทวสถานจึงเป็นของศาสนาฮินดูเสียเป็นส่วนใหญ่ สำหรับเทวสถานแห่งโกนารักนั้นไม่ได้เป็นเจติสถานหรือเทวสถานของเทพองค์อื่นใดเลยนอกจากพระสุริยะเทพ แต่เทวสถานแห่งโกนารักก็มิได้มีแต่เฉพาะเทวสถานของพระสุริยะเทพเท่านั้น เมื่อกษัตริย์นรสิงห์ทรงสร้างเทวสถานแห่งนี้พระองค์ก็ยังได้ทรงสร้างอนุสรณ์เพื่อเป็นที่ระลึกถึงการทำสงครามของพระองค์ไว้ที่นี่ด้วย ดังจะเห็นได้จากประติมากรรมเกี่ยวกับการสงคราม เช่น การรบด้วยม้าและช้าง บางรูปก็จะเป็นสิงโตขี่อยู่ตัวบนช้างซึ่งเสมือนเป็นสัญลักษณ์แทนชัยชนะของพระองค์ ประติมากรรมรูปช้างจะมีขนาดที่ใกล้เคียงกับช้างจริงๆ ซึ่งจะอยู่ทางด้านทิศเหนือของวิหาร ส่วนประติมากรรมรูปม้านั้นจะอยู่ทางด้านทิศใต้ แสดงท่าทางในลักษณะของการพ่ายแพ้สงคราม ส่วนประติมากรรมรูปสิงโตขี่ช้างจะตั้งอยู่ด้านหน้าทางเข้าของนาถมณฑป
นอกจากประติมากรรมรูปการสู้รบแล้ว ยังมีประติมากรรมต่างๆอีกมากมายหลายชนิด เช่น รูปสลักเหล่าทวยเทพ เจ้าชาย ผู้บำเพ็ญพรต อราชกัญญา นาคา นาคินี และรูปคนคู่มิถุนา นอกจากนี้ก็ยังมีภาพสลักเล่าเรื่อง เช่น ภาพขบวนทหาร การล่าสัตว์ ฯลฯ และสุดท้ายประติมากรรมที่ขาดไม่ได้เลยนั่นก็คือองค์พระสุริยะเทพในอิริยาบถต่างๆ ที่ประตูทางเข้าวิหารทางด้านทิศตะวันออกมีทับหลังที่แสดงภาพแกะสลักเทพนพเคราะห์ คือเทพแห่งดาวนพเคราะห์ทั้ง ๙ นั่งอยู่บนช่องเล็กๆ นอกจากนั้นก็ยังมีภาพแกะสลักรูปพระสุริยะเทพมีสองพระกรประทับยืนอยู่บนรถะที่มีพระอรุณเป็นสารถีพร้อมกับม้าอีก ๗ ตัวทางด้านล่าง

2 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ลองอ่านกันดูนะครับ

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ขอบคุณสำหรับข้อมูลดีๆครับ