วันอังคารที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2551

พงตึก : ชุมชนโบราณสมัยทวารวดีที่กาญจนบุรี



พงตึกเป็นชุมชนโบราณที่ไม่มีคูน้ำคันดินล้อมรอบเหมือนกับเมืองโบราณสมัยทวารวดีอื่นๆ ตั้งอยู่บนฝั่งขวาของแม่น้ำแม่กลอง ในเขตอำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี ชื่อของพงตึกได้รับการกล่าวถึงในหลักฐานทางด้านวรรณกรรมมาตั้งแต่สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นในนิราศพระแท่นดงรังของสามเณรกลั่นซึ่งเป็นลูกศิษย์ของสุนทรภู่กวีเอกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เนื้อความของนิราศพระแท่นดงรังกล่าวถึงการเดินทางไปนมัสการพระแท่นดงรังกับท่านสุนทรภู่ โดยการเดินทางครั้งนี้ไปโดยทางเรือที่ล่องไปตามลำน้ำแม่กลอง เมื่อผ่านมาถึงพงตึกสามเณรกลั่นเกิดความสงสัยในชื่อพงตึก จึงได้ไต่ถามท่านผู้เฒ่าผู้แก่ซึ่งน่าจะเป็นชาวบ้านในละแวกนั้นได้ความว่า เป็นตึกพราหมณ์ครั้งแผ่นดินโกสินรายณ์ ตึกนี้ตั้งอยู่ริมแม่น้ำคนจึงเรียกว่าพงตึกสืบต่อกันมา จะเห็นได้ว่ามีคำที่เกี่ยวข้องกับอินเดียสองคำก็คือคำว่าพราหมณ์และโกสินรายณ์ ซึ่งทำให้สันนิษฐานต่อไปได้ว่าผู้คนในสมัยก่อนคงรับรู้ได้ว่าบริเวณแถบนี้ในสมัยโบราณมีการติดต่อกับอินเดียมาแล้วและมีพราหมณ์ที่เดินทางเข้ามาในแถบนี้ จึงจดจำและเล่าสืบต่อกันมา


การขุดค้นทางโบราณคดีที่พงตึกนี้ มีสาเหตุมาจากการลงข่าวในหนังสือพิมพ์เดลิเมล์ ฉบับวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ.2470 ว่าชาวนาในจังหวัดราชบุรี (เดิมพงตึกขึ้นอยู่กับจังหวัดราชบุรี) ได้ขุดพบโครงกระดูกมนุษย์ขนาดใหญ่ฝังอยู่ร่วมกับพระพุทธรูปเงินและทอง เมื่อประชาชนทั่วไปทราบข่าวจึงพากันแห่ไปขุดเพื่อสมบัติอื่นๆกันอย่างมากมายเป็นเหตุให้โบราณวัตถุต่างๆและโครงกระดูกถูกรบกวนจนไม่เหลือสภาพเดิม เมื่อทางราชบัณฑิตยสภาทราบข่าว สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพจึงมีรับสั่งให้ ศ.ยอร์ช เซเดส์ เดินทางไปสำรวจซึ่งผลจากการไปสำรวจครั้งนี้ทำให้ได้พบโบราณวัตถุหลายประเภทที่ชาวบ้านขุดขึ้นมาและนำมาให้ชม เช่น พระพุทธรูปสัมฤทธิ์ ถ้วยดินเผา ตะเกียงโรมันสำริด ซึ่ง ศ.ยอร์ช เซเดส์ ก็ได้นำตะเกียงโรมันสำริดกลับมาที่กรุงเทพในเวลาต่อมา
หลังจากนั้นจึงได้มีการขุดค้นที่พงตึกขึ้นตามหลักวิชาโบราณคดีในวันที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2470 โดยนาย Signor Manfredi เป็นหัวหน้าในการขุดค้นครั้งนี้ หลังจากนั้นไม่กี่วันสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงเสด็จไปเยี่ยมชมการขุดค้นที่พงตึกและในครั้งนี้พระองค์ก็ทรงได้โบราณวัตถุที่ชาวบ้านลักลอบขุดไปในครั้งแรกกลับมาไว้ในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติเกือบทั้งหมด สำหรับการขุดค้นในครั้งนี้ทำให้พบซากอาคารขนาดเล็ก 2 แห่ง แห่งแรกมีฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสกว้างด้านละ 6 เมตร และอาคารอีกแห่งตั้งอยู่บนฐานกลม เส้นผ่าศูนย์กลาง 9 เมตร ซึ่ง ศ.ยอร์ช เซเดส์ สันนิษฐานว่า อาคารที่มีฐานกลมนั้นน่าจะเป็นฐานของสถูปและฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัสเป็นฐานของศาสนสถานเล็กๆ ฐานอาคารทั้งสองแห่งนี้มีการประดับตกแต่งด้วยประติมากรรมลวดลายปูนปั้นอย่างสวยงาม และชิ้นส่วนปูนปั้นบางชิ้นปัจจุบันได้รับการเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ พระนคร สถานที่อีกแห่งที่ค้นพบตะเกียงโรมันสำริดที่เรียกว่าสวนกล้วยซึ่งอยู่บริเวณใกล้ๆกันนั้นได้พบฐานอาคารรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสกว้างด้านละ 8 เมตร ใกล้ๆกับอาคารได้ค้นพบชิ้นส่วนดอกไม้ทองคำเป็นแผ่นบางๆ ซึ่ง ศ.ยอร์ช เซเดส์ สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นชิ้นส่วนที่ใช้ในการประกอบพิธีกรรมก่อนการสร้างศาสนาสถานคล้ายกับการฝังลูกนิมิตในปัจจุบันคือฝังไว้ใต้ศาสนาสถาน นอกจากนี้ยังพบฐานอาคารทรงกลมเล็กๆและฐานอาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าในบริเวณที่เรียกว่าศาลเจ้าด้วยเช่นกัน

หลังจากการขุดค้นในครั้งนี้ห่างมาอีกประมาณสิบปีได้มีการค้นพบประติมากรรมเทวรูปพระวิษณุศิลาโดยบังเอิญจากการขุดดินทำถนนห่างจากศาลเจ้าไปทางตะวันออกประมาณ 200 เมตร องค์เทวรูป มีความสูงจากพระบาทจนถึงพระเศียร 80 เซนติเมตร เป็นพระวิษณุสี่กร ถือสังข์ จักร ธรณีหรือดอกบัวและคฑาตามแบบอินเดีย ศ.มจ.สุภัทรดิศ ดิศกุล ได้ทรงตั้งข้อสังเกตว่าเทวรูปองค์นี้แปลกจากเทวรูปพระวิษณุองค์อื่นๆคือพระเกศาที่ทำเป็นรูปดอกบัวแทนที่จะสวมหมวกทรงกระบอกและจากลักษณะผ้าภูษาทรงสามารถกำหนดอายุได้ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 13 หรือ 14 เทวรูปพระวิษณุองค์นี้เป็นหลักฐานสำคัญที่แสดงให้เห็นร่องรอยของศาสนาพราหมณ์ที่ปรากฏในพื้นที่ภาคตะวันตกที่มีอายุร่วมสมัยกับวัฒนธรรมทวารวดีได้เป็นอย่างดี ศ.ยอร์ช เซเดส์ ได้กำหนดอายุของโบราณวัตถุ เช่น พระพุทธรูปสำริดที่ค้นพบที่พงตึกว่าน่าจะเป็นศิลปะอินเดียแบบคุปตะที่มีอายุอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 11 ซึ่งจะพบพระพุทธรูปในลักษณะนี้ได้ในหลายเมืองโบราณสมัยทวารวดี และนอกจากอิทธิพลศิลปะแบบคุปตะแล้วก็ยังมีอิทธิพลของศิลปะแบบอมราวดีหลงเหลืออยู่บ้างในพระพุทธรูปบางองค์ที่ขุดพบบริเวณสวนกล้วย ที่มีลักษณะของจีวรที่เป็นริ้ว ในส่วนของตะเกียงโรมันสำริดนั้น ศ.ยอร์ช เซเดส์ สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นสินค้านำเข้ามาในสมัยอินโด-โรมัน ของอินเดีย จากโบราณวัตถุและโบราณสถานที่ค้นพบที่พงตึกนี้พอจะสรุปได้ว่าชุมชนโบราณที่พงตึกนี้มีการติดต่อค้าขายกับอินเดียมาตั้งแต่สมัยอินโด-โรมัน คือประมาณพุทธศตวรรษที่ 5 - 9 และนับถือพระพุทธศาสนาเป็นหลักโดยมีศาสนาพราหมณ์ลัทธิไวษณพนิกายเจือปนอยู่บ้างซึ่งก็อาจจะมีผู้นับถือศาสนาพราหมณ์ที่เดินทางเข้ามาตั้งถิ่นฐานหรือค้าขายอยู่ที่พงตึกในช่วงเวลาประมาณพุทธศตวรรษที่ 13-14 ตามการกำหนดอายุของประติมากรรมพระวิษณุที่ค้นพบในบริเวณพงตึกแห่งนี้นั่นเอง

1 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ขอบคุณสำหรับข้อมูลดีๆครับ